Blog

DESIGN THINKING กับการบริหารคนในองค์กร

gs

DESIGN THINKING กับการบริหารคนในองค์กร

Student blog — 12/12/2024

DESIGN THINKING กับการบริหารคนในองค์กร
เริ่มต้น รู้จักเข้าใจ DESIGN THINKING กันก่อน
DESIGN THINKING คือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ที่ถูกนำมาใช้ในองค์กรเพื่อการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ และอื่นๆ โดย Stanford d.school[1] และกระบวนการนี้ อธิบายได้ว่าเป็น “กระบวนการคิดที่ใช้ความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลายๆคน หลายๆ สายมาสร้างไอเดีย แนวทางการแก้ไข และนำเอาแนวทางต่างๆ มาทดสอบและพัฒนา เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้และสถานการณ์​”[2]
โดยกระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (DESIGN THINKING PROCESS) โดย Stanford d.school แบ่งขั้นตอนกระบวนการคิดออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test ตามภาพด้านล่าง

design-thinking-people-management

สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ DESIGN THINKING คือ การฟัง… ทำความเข้าใจผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่า Empathize คือเข้าอกเข้าใจ เสมือนเป็นเราเป็นตัวเขา โดยผ่านการพูดคุย และ การสังเกตพฤติกรรมความคิดความรู้สึกของผู้ใช้ เพื่อทำความเข้าใจ..ให้ถึงใจเขานั่นเอง หลังจากนั้น ตกผลึกปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้ และกำหนดปัญหาที่ชัดเจนออกมา หรือ Define และเมื่อได้ปัญหาที่แท้จริงออกมา นำไปสู่ กระบวนการ Ideate คือการระดมความคิด การหาทางเลือกมากมายในการแก้ไขปัญหาอย่างไม่มีกรอบ ระดมความคิดจากหลายมุมมอง ตรงนี้ขอเน้นว่า ไม่มีกรอบ และไม่ตัดสินหรือประเมินไอเดียใดๆ ว่าดีหรือไม่ดี เน้นปริมาณไอเดีย เพื่อต่อยอดและต่อยอดไอเดีย จากมุมมองของคนหลายๆคนภายในทีม เพราะจุดมุ่งหมายของเราคือ ไอเดียใหม่ ทางเลือกใหม่ที่จะมาแก้ปัญหาของผู้ใช้ ดังนั้นเราจะให้อิสระในการออกไอเดีย และต่อยอดไอเดียกันอย่างอิสระ และขั้นตอนต่อไป นำไอเดียที่ระดมความคิดกันมาสร้าง Prototype การสร้างต้นแบบจะทำให้เราได้ถ่ายทอดไอเดียออกเป็นสิ่งที่เราเห็นภาพและจับต้องได้ ซึ่งต้นแบบในที่นี้อาจจะเป็นสินค้า Mock-up หรือหากเป็นบริการก็สามารถทำเป็น Role Play หรือทดลองทำเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่ง Prototype ต้นแบบนี้จะนำไปทดสอบ (Test) กับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อเก็บFeedback นำความคิดเห็นเหล่านั้นไปพัฒนาต้นแบบให้ดีขึ้นๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ และนำไปต่อยอดออกเป็นนวัตกรรมจริง
แต่หากไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ จะต้องกลับไปค้นหาปัญหาอีกครั้ง เพราะนั่นอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้ เราต้องกลับมาค้นหาอีกครั้ง โดยย้อนไปยังกระบวนการที่ผ่านมา ตามภาพด้านล่างนี้

design-thinking-people-management

โดยสรุปความสำคัญ กระบวนการ DESIGN THINKING จะช่วยปลดล็อคความคิดของตัวเรา ทีมงานเรา และคนในองค์กร เป็นกระบวนที่เราจะทำให้เราได้ความเข้าใจผู้ใช้…ได้ถึงใจ และสามารถทดสอบความเป็นไปได้ในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว
DESIGN THINKING ปรับใช้กับการบริหารธุรกิจ บริหารองค์กร บริหารคนได้อย่างไร
DESIGN THINKING นี้สามารถปรับใช้ในการออกแบบสิ่งต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือ โมเดลธุรกิจ หรือ การออกแบบองค์กรที่ตอบโจทย์กับบริบทในยุคปัจจุบัน หรือ การออกแบบงานที่ตอบโจทย์กับพนักงาน หรือออกแบบชีวิตที่ตอบโจทย์ตัวเราเอง
และยิ่งด้วยสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว DESIGN THINKING สามารถนำมาปรับใช้กับองค์กร ธุรกิจ และตัวเราเองได้ และจะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้เร็วอีกด้วย อีกทั้งยังตอบโจทย์ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลง
จึงอยากชวนมาคิดต่อยอด…กับ DESIGN THINKING ว่าหากเป็นเรา เราจะปรับใช้ DESIGN THINKING ปรับใช้กับการบริหารธุรกิจ บริหารองค์กร บริหารคนได้อย่างไร…
ก่อนที่จะไปสู่กระบวนการ ขอย้ำอีกครั้งว่า DESIGN THINKING เป็นแนวคิดการออกแบบที่วิเคราะห์ปัญหาผ่านมุมมองของ ‘ผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้ผลิต’ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจุดตั้งต้น ก่อนจะหาวิธีแก้ไข ดังนั้น ต้องถามก่อนว่า ‘ใคร คือ ผู้ใช้’ หากปรับใช้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้า ผู้ใช้คือลูกค้า หากปรับใช้ในการคิดถึงการปรับการทำงานของคนองค์กร ผู้ใช้คือพนักงาน หากปรับใช้กับการออกแบบชีวิตตัวเรา ผู้ใช้ คือตัวเราเอง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ 5 ขั้นตอน เริ่มด้วยมุ่งค้นหาทำความเข้าใจผู้ใช้ ไปจนถึงการทดสอบ
ตัวอย่างการปรับใช้ DESIGN THINKING หากวันนี้โจทย์ของเราวันนี้ คือ การบริหารคนในองค์กร เราจะทำอย่างไรให้คนเก่งอยู่กับเราในช่วงที่เกิดวิกฤต แน่นอนว่าเริ่มต้น คำถามคือ คุณเข้าใจคนเก่งในองค์กรของคุณหรือยัง หรือหากโจทย์ในวันนี้ เราจะตอบสนองลูกค้าอย่างไรดีเมื่อพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน เริ่มต้นเราต้องทำความเข้าใจลูกค้าของเราก่อน และถึงนำสู่การหาไอเดียมากมาย ไปจนการสร้างต้นแบบ และทดสอบ ซึ่งบางครั้ง การทำต้นแบบนี้ ก็คือการลงมือทำ เพื่อทดสอบความต้องการของลูกค้านั่นเอง และอยากแนะนำให้เรียนรู้ด้วยการศึกษาตัวอย่างของธุรกิจที่สร้างสรรค์นวัตกรรม ว่าเริ่มต้นเขาตั้งคำถามอย่างไร
มายเซ็ตแบบ DESIGN THINKER
คำถามต่อมา แล้วจะทำอย่างไร ให้ตัวเรา คนในองค์กรเรา ให้คิดเหมือนนักออกแบบ จุดเริ่มต้นต้องปรับมายเซ็ตของเรา ให้เป็น DESIGN THINKER ดังนี้
  • 1. Curiosity จงสงสัยใคร่รู้ และเห็นโอกาสทุกที่
    จงฝึกตัวเองให้ช่างคิดช่างสงสัย หาแง่มุมที่ซ่อนอยู่ในทุกเรื่องราว ต้องฝึกช่างคิด ช่างตั้งคำถามพยายามขุดค้นหาเหตุที่มาเชิงลึก ฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจผู้ใช้ให้ลึกและเข้าถึงแก่นแท้ความต้องการของเขาได้มากขึ้น และสิ่งนั้นจะนำซึ่งโอกาสมากมาย
  • 2. Bias towards Action ต้องทดลองทำ
    การลงมือทำ จะทำให้เราไม่ยึดติดและกังวลกับวิเคราะห์ แต่เราจะเรียนรู้ได้ไวจากการลงมือทำ นั่นคือ การสร้างต้นแบบ หรือ Prototype ที่จะทำให้เราได้ทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายเห็นและเข้าใจได้ไว และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและลงมือทำ
  • 3. Reframing ปรับมุมมองกับปัญหา
    มุมมองของคนอื่นที่มีต่อปัญหา จะช่วยให้เราเห็นปัญหาในหลากหลายมุมมากขึ้น และเข้าใจปัญหาได้มุมที่กว้างและลึกขึ้น
  • 4. Mindfulness of Process รับรู้ว่านี่คือกระบวนการ
    เข้าใจกระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ อย่าด่วนตัดสินใจ หากคุณด่วนสรุปเร็วไป มันอาจจะไม่เจอสิ่งที่เราพยายามค้นหา และเราต้องไม่ยอมแพ้กับการค้นหาหนทางในการแก้ปัญหา
  • 5. Radical Collaboration ขอความร่วมมือ
    คิดคนเดียว ทำคนเดียว จะไม่เกิดผลใดๆ การสร้างทีม เพื่อปรึกษาหารือ หาไอเดียหลากหลายจากผู้คนจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่าง พยายามขอความร่วมมือ หากลุ่มคน ผู้สนับสนุนที่สามารถพูดคุย หา Feedback ได้
บทสรุปสุดท้าย ขอฝากให้ผู้อ่านได้ลองฝึกฝนตัวเองให้เป็น DESIGN THINKER และนำ DESIGN THINKING ไปปรับใช้กับองค์กรธุรกิจของตัวเอง ลงมือทำวันนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเร็ววันแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ#